เสียงแหบอย่าประมาท อาจเกิดจากเส้นเสียงอักเสบ (Laryngitis)
เส้นเสียง (Vocal folds) อยู่ภายในกล่องเสียง (Larynx) มีจำนวนสองเส้นมีสีขาว ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง เมื่อเส้นเสียงอักเสบจะทำให้เส้นเสียงบวมและเข้ามาชนกันไม่สนิทขณะพูด จึงเกิดเสียงแหบ
สาเหตุ
- การติดเชื้อ เช่น ไวรัส, แบคทีเรีย, รา, วัณโรค ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อเป็นหวัด
- การระคายเคือง เช่น สูบบุหรี่, ดื่มสุรา, ไอเรื้อรัง, น้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน, แก๊สหรือสารเคมี
- การใช้เสียงผิดวิธีเป็นเวลานาน เช่น ตะโกน, ใช้เสียงมากและนานเกินไป

อาการ
- เสียงแหบ, ไม่มีเสียง
- เจ็บคอ, ระคายคอ, ไอ
- กลืนลำบาก, กลืนเจ็บ หายใจลำบาก
การตรวจวินิจฉัย
1. ตรวจด้วยกระจกเงา ผู้ป่วยนั่งยื่นหน้าไปข้างหน้าและโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย อ้าปากและแลบลิ้น แพทย์จะดึงลิ้นผู้ป่วยไปด้านหน้าและใช้กระจกเงาขนาดเล็กสอดเข้าทางช่องปากของผู้ป่วยไปยังบริเวณคอหอยและลิ้นไก่ ทำให้เห็นภาพอวัยวะภายในกล่องเสียงที่สะท้อนเข้าไปที่กระจกเงา การตรวจแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา
2. ตรวจด้วยการส่องกล้อง แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่พ่นเข้าไปบริเวณลำคอ จากนั้นรอประมาณ 1-2 นาที เมื่อผู้ป่วยมีอาการชา แพทย์จะใช้เครื่องมือเข้าไปตรวจและแสดงภาพผ่านทางจอโทรทัศน์ได้ชัดเจน โดยกล้องที่ใช้ในการส่องทางกล่องเสียงมี 2 ประเภท ได้แก่
กล้องแบบแข็ง (Rigid Endoscope) ตัวกล้องเป็นแท่งโลหะตรง ผู้ป่วยจะนั่งโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย อ้าปาก และแลบลิ้นเพื่อให้ภายในคอหอยกว้างและตรวจได้ง่ายขึ้น เวลาส่องกล้องจะถูกสอดผ่านเข้าทางช่องปากไปยังลิ้นไก่ในคอหอย จากนั้นถ่ายภาพกล่องเสียงที่อยู่ต่ำกว่าคอหอยมาแสดงทางจอโทรทัศน์
กล้องแบบอ่อน (Fiberoptic Laryngoscope) ตัวกล้องประกอบด้วยเส้นใยพิเศษที่เรียกว่าสาย Fiberoptic สามารถโค้งงอได้ ผู้ป่วยจะนั่งตัวตรง โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยไม่ต้องอ้าปาก กล้องจะสอดเข้าทางรูจมูกผ่านโพรงจมูกลงไปในคอหอยเพื่อถ่ายภาพกล่องเสียงที่อยู่ลึกลงไปในคอหอย จึงได้รายละเอียดอวัยวะภายในโพรงจมูกมาด้วย

การรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น เกิดจากไวรัส ให้ยาบรรเทาตามอาการ, เกิดจากแบคทีเรีย ให้ยาปฏิชีวนะ, เกิดจากโรคกรดไหลย้อน ให้ยาลดการสร้างกรด, หากใช้เสียงผิดวิธี ควรฝึกการใช้เสียงให้ถูกต้อง (Vocal therapy)
ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
- งดสูบบุหรี่, งดดื่มสุรา
- พักการใช้เสียงจนกว่าอาการจะทุเลา
- หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่อเส้นเสียง เช่น ฝุ่น, ควัน
- ดื่มน้ำอุ่น

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สุเมธ เฟื่องกำลูน
แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก ศูนย์ หู คอ จมูก ( Ear Nose & Throat Center)
คลิก > การส่องกล้องตรวจหลังโพรงจมูกและกล่องเสียง (Fiberoptic Laryngoscope)