“เล่าเบาหวาน...ผ่านเท้า” E.P.6 : เมื่อเท้าเบาหวาน.......ต้องการความสะอาด

ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเท้าเบาหวาน ยิ่งต้องการรักษาความสะอาด  อย่าประมาท โปรดล้างเท้าเป็นกิจวัตร เพื่อขจัดความสกปรก ให้เท้าสดชื่น ประดุจตื่นมาล้างหน้าทุกวัน  แต่....เท้าเบาหวานไม่เหมือนเท้าบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะถ้าใครมีปลายประสาทอักเสบ ก็อาจจะไม่รับรู้สัมผัส หรือความรู้สึกเจ็บปวด ร้อนเย็น  ก่อนจุ่มเท้าลงน้ำ ควรทดสอบอุณหภูมิด้วยข้อศอกของตัวเองก่อน  อย่าให้น้ำร้อนเกินไป ถ้าไม่สะดวก หรือไม่แน่ใจ ควรให้บุคคลอื่นทดสอบให้ ไม่ควรเสี่ยง หลีกเลี่ยงเท้าแช่น้ำร้อน เพราะถ้าหนังพองแตกเป็นแผล ต้องดูแลรักษากันไปนาน

 

เท้าเบาหวานจึงไม่ควรแช่น้ำอุ่น

 

ทำความสะอาดเท้าในภาชนะที่ใส่น้ำ ถ้าเท้าผิวแห้ง ควรทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่ที่ผสมสารให้ความชื้น (moisturizer)  ล้างเท้าให้สะอาด และซับให้แห้งด้วยผ้าขนหนูที่นุ่มให้ทั่วทั้งเท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า แต่อย่าถูอย่างรุนแรง  อย่าปล่อยให้เท้าเปียกน้ำ ระวัง จะทำให้ลื่นหกล้มได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ  ถ้าเท้าเป็นแผล รอยถลอก หรือมีการแตกของผิวหนัง อย่าถูกน้ำ เพราะอาจติดเชื้อได้ง่าย

 

ถ้าเท้ามีเหงื่อออกบ่อย อาจจะโรยด้วยแป้ง แต่ระวังอย่าโรยที่ซอกนิ้วเท้า เพราะจะทำให้อับชื้น และมีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย  ในผู้ที่สูงอายุมากขึ้น ผิวจะแห้งขึ้น โดยเฉพาะในหน้าหนาว ถ้ายิ่งอาบน้ำอุ่น ผิวก็ยิ่งมีโอกาสแห้ง ผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน และมีการเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย จะมีเหงื่อออกน้อย หรือไม่มีเลย ความชุ่มชื้นของผิวหนังยิ่งลดน้อยลง ผิวจะแห้งได้มาก

 

ผิวแห้งทำให้ผิวแตก  และมีโอกาสติดเชื้อลุกลามอักเสบได้  ผิวแห้งทำให้คัน เมื่อคันแล้วต้องเกาหรือถูไถ ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (chronic dermatitis)  เกาแรงก็ถลอก เกิดแผลจากการเกา และอักเสบบวมแดงลุกลามใหญ่โต กลายเป็นติดเชื้อของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (cellulitis หรือ subcutaneou tissue infection) ได้  คันแล้วเกา จึงเหมือนแยกผิวหนัง และเอาเชื้อโรคใส่เข้าไป

 

เท้าเบาหวานจึงไม่ต้องการเกา

 

ทำอย่างไรไม่ให้คัน  ถ้าคันจากผิวหนังแห้ง ก็ต้องเปลี่ยนแปลงผิวหนังให้มีความชุ่มชื้น อะไรก็ตามที่ผสมสารให้ความชื้น (moisturizer) ที่มีส่วนช่วยกลับคืนผิวหนัง ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ครีม โลชั่น ointments หรือน้ำมัน (oils)  ที่สำคัญขอให้อย่าผสมแอลกอฮอล์ร่วมด้วย  เพราะแอลกอฮอล์จะระเหยได้ง่าย และดึงน้ำออกไป ทำให้ผิวแห้งมากขึ้น  โลชั่นที่ผสมน้ำมันแร่ (mineral oil) จะคงความชุ่มชื้นได้ไม่ดีเท่ากับน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก, almond oil, jojoba oil เป็นต้น เจลที่ทำจากว่านหางจระเข้ (aloe vera gel) ก็ให้ผลดีเช่นกัน  ผู้ที่แพ้สารเคมี หรือไวต่อกลิ่นหรือสีปรุงแต่ง ก็คงต้องเลือกกลุ่มที่ไม่มีกลิ่นและไม่มีสี

 

ในทางการแพทย์ ผู้ที่ผิวแห้ง แพทย์จะให้การรักษาด้วยครีมที่ผสมยูเรีย ซึ่งจะให้ผลดีมากกว่าสารที่ให้ความนุ่ม (emollients)   ผู้ที่ผิวแห้งมาก จึงควรไปพบแพทย์เพื่อให้สั่งการรักษาที่เหมาะสม

 

ครีมหรือโลชั่นใดก็ตาม ห้ามทาระหว่างซอกนิ้วเท้า เพราะจะเข้าไปหมักหมม สะสมความสกปรก และอับชื้น มีโอกาสเกิดการเกิดติดเชื้อตามหลัง  การทาโลชั่นควรทาหลังอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง หากซอกนิ้วเท้ามีอาการคัน แดง แตก เป็นขุย หรือเป็นสะเก็ด ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อรา ควรไปหาแพทย์ จะได้ขูดผิวหนังไปตรวจ หรือส่งเพาะเชื้อ  และให้การรักษาที่ถูกต้อง ในกรณีที่อักเสบ บวม แดง ร้อน หรือเป็นหนอง หรือมีอาการปวด แสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจรุนแรงเข้าสู่กระแสโลหิต จนมีไข้ หนาวสั่น ร่วมด้วย  ถ้าเช่นนั้น ยิ่งต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็ว

 

การป้องกันการติดเชื้อ ที่สำคัญ อย่าเบื่อการทำความสะอาด เช็ดซอกนิ้วเท้าให้แห้ง และสวมถุงเท้าทุกครั้ง ถุงเท้าที่ทำจากไฟเบอร์จะดูดซับความชื้นได้ดีกว่าฝ้าย เปลี่ยนถุงเท้าที่สะอาดทุกวัน  หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า ไม่ว่าบริเวณสระน้ำ หรือบริเวณบ้าน  เชื้อราจะเติบโตได้ดีในที่ชื้น และอับแสง  ถ้าไม่สัมผัสถูกเชื้อรา ก็ไม่มีโอกาสที่จะติดได้  เชื้อราและแบคทีเรียเป็นสาเหตุให้เท้ามีกลิ่น  การทำความสะอาดผิวหนัง ตัดเล็บเท้าให้สั้น รักษาเท้าให้แห้งและสะอาด เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยๆ  สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม ให้อากาศถ่ายเทได้ เหล่านี้เป็นพื้นฐานในการดูแลเท้าประจำวัน  

 

เมื่อเบาหวานต้องการดูแลเท้า เฝ้าระวังรักษาความสะอาด ซอกนิ้วผิวเล็บเก็บไม่พลาด  ฉลาดรักษ์ป้องเท้าสุดเบาใจ

 

คลิก > นัดหมายนพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล

 

สนับสนุนข้อมูลโดย นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล

อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม