ภัยร้ายของโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง หัวใจโตอันตรายไหมหรือห้ามกินอะไรบ้าง

ภัยร้ายของโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจโต อันตรายไหมหรือโรคหัวใจโต ห้ามกินอะไรบ้าง

ปัจจุบันความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคที่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดที่สมองและไตด้วย จุดมุ่งหมายของการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงเพื่อลดอัตราทุพพลภาพและอัตราการตาย ซึ่งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด การดูแลเฉพาะแต่ความดันโลหิตสูงเท่านั้น จะทำให้ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นแพทย์จึงต้องตรวจค้นหาภาวะอื่น ที่อาจพบในตัวผู้ป่วยด้วย อาทิ เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, ภาวะอ้วน, ผนังหัวใจห้องซ้ายล่างหนา, และโรคเก๊าท์ เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์จะต้องดำเนินการควบคุมและรักษาคู่ไปกับการรักษาความดันโลหิตจึงจะได้ผลและมีประสิทธิภาพเต็มที่

 

เมื่อไรที่เราเรียกความดันโลหิตสูง ผู้ใหญ่หากความดันโลหิตสูงกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ควรนอนพักประมาณ 5-10 นาที แล้ววัดใหม่ ถ้าค่าความดันเลือดยังเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกัน ควรวัดซ้ำในเวลาอีก 2-5 สัปดาห์ อีก 2-3 ครั้ง ถ้าสูงตลอดจึงถือว่าเป็นโรคความดันเลือดสูงได้

โรคหัวใจโต ห้ามกินอะไรบ้าง?
ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจโตควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ภาวะนี้แย่ลง อาหารเหล่านี้รวมถึง
1.อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีเกลือสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง และอาหารจานด่วน ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากโซเดียมสามารถทำให้ร่างกายเก็บน้ำ ซึ่งเพิ่มภาระให้กับหัวใจ
2.อาหารที่มีไขมันสูง ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวที่พบในอาหารทอดและอาหารประเภทขนมปัง ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด
3.อาหารที่มีน้ำตาลสูง การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปอาจนำไปสู่โรคอ้วนและเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

โรคหัวใจโต อันตรายไหม?
โรคหัวใจโตอาจนำไปสู่ภาวะที่อันตรายได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลที่เหมาะสม ภาวะนี้อาจทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
การรักษาโรคหัวใจโตมุ่งเน้นที่การควบคุมอาการและการป้องกันภาวะแทรกซ้อน การรักษาอาจรวมถึงการใช้ยา การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และในบางกรณี การผ่าตัด การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญในการจัดการกับโรคนี้
ในสรุป โรคหัวใจโตเป็นภาวะที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด การเลือกอาหารที่เหมาะสมและการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคนี้

สาเหตุที่พบ

1. มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะตรวจไม่พบสาเหตุ จาก 2 ปัจจัยหลักคือ

 

  • กรรมพันธุ์พบว่าผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นความดันโลหิตสูงมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่า ผู้ที่บิดามารดาไม่เป็น ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น ๆ

  • สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน การรับประทานอาหารเค็ม การดื่มสุราและสูบบุหรี่ ภาวะเครียด เป็นต้น

2. น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้แม้จะพบเป็นจำนวนน้อย แต่ก็มีความสำคัญ เพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ โรคไต หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจตีบ เนื้องอกของต่อมหมวกไต ยาบางชนิด อาทิ ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

 

อาการของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แบ่งตามระดับความรุนแรง

 

  • ความดันโลหิตสูงระดับอ่อนหรือปานกลาง จะไม่มีอาการแต่มีการทำลายอวัยวะต่าง ๆ ทีละน้อยอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยเกิดผลแทรกซ้อนในที่สุด ซึ่งอาจทำให้ หัวใจล้มเหลว, หัวใจขาดเลือด, ไตเสื่อมสมรรถภาพ, หรืออัมพาต อัมพฤกษ์ จึงทำให้ภาวะความดันโลหิตสูง ถูกเรียกขนานนามว่า " ฆาตกรเงียบ "


  • ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้ อาทิ เลือดกำเดาไหล, ตามองไม่เห็นข้างหนึ่งชั่วคราว, เหนื่อยง่าย, เจ็บหน้าอก, เวียนศีรษะ, ปวดศีรษะตุบ ๆ เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้

 

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการรักษา จะมีผลต่อหลอดเลือดของอวัยวะสำคัญ ทําให้อวัยวะนั้นเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้แก่

 

  • ตา : อาจมัวถึงตาบอด เนื่องจากหลอดเลือดในลูกตาตีบตันหรือแตก เกิดเลือดออกในตา

  • หัวใจ : จะทํางานหนักขึ้น ทําให้หัวใจโต และหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอาจตีบ เกิดอาการหัวใจขาดเลือด

  • ไต : หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตมีความดันสูงตาม จึงเกิดไตฝ่อ และไตพิการ

  • สมอง : หลอดเลือดในสมองจะตีบหรือแตก ทําให้ปวดศีรษะรุนแรง ไม่รู้สึกตัว ชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิต

 

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)

 

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลหรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสูงทั้ง 2 ชนิด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกาะที่ผนังหลอดเลือด จะทำให้เกิดการอักเสบและภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อการสะสมเพิ่มมากขึ้นหลอดเลือดแดงในร่างกายส่วนต่าง ๆ จะมีการตีบหรืออุดตัน เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายทำให้เสียชีวิต รวมทั้งอัมพฤกษ์อัมพาต

 

ทั้งนี้ภาวะไขมันในเลือดสูงมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ และปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ทำให้เกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด

 

โดยปกติร่างกายคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ

 

1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) อาจมีระดับสูงขึ้นจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารหวาน มัน  เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารทะเล โดยเฉพาะไขมันทรานส์ พบได้ในขนมอบ ขนมกรุบกรอบ และครีมเทียม ในผู้ป่วยบางราย อาจมีระดับคอเลสเตอรอลสูงจากกรรมพันธุ์ แบ่งเป็น

 

  • ไขมันชนิดที่ไม่ดี (LDL) เป็นชนิดอันตรายเพราะเป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และหลอดเลือดสมองตีบ

  • ไขมันชนิดที่ดี (HDL) ทำหน้าที่ขจัดไขมันอันตรายไปจากกระแสเลือดต่อต้านการสะสมผิดที่ของไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การมีระดับ HDL ยิ่งสูงยิ่งดีต่อร่างกาย

2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) อาจมีระดับสูงขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน การดื่มสุรา และยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน สเตียรอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงจากกรรมพันธุ์เช่นกัน

 

เมื่อใดที่ร่างกายมีไขมันมากเกินไป ไขมันจะไปเกาะตามผนังด้านในของหลอดเลือด ถ้าไขมันสูงมากจะมีผลทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก โดยเฉพาะบริเวณขาทำให้เดินแล้วปวดน่อง และอาจส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรืออาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ มากขึ้น ระดับไขมันในร่างกายที่ปกติ คือ Cholesterol ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร Triglyceride ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร HDL สูงกว่า 35 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

 

สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง

 

1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์

2. โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ขาดฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์

3. จากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์

4. การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ

5. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ

 

เราจะเห็นได้ว่าการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูง ให้อยู่ในระดับปกติจึงมีความสำคัญเป็นออย่างมาก ดังนั้นเราจึงจำป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิด และชะลอการเกินโรคได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้มีโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง

 

1. จำกัดอาหารและเลือกรับประทานให้เหมาะสม

 

  • สมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวที่รับประทานให้น้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน เช่น ผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน สามารถรับประทานไขมันอิ่มตัวได้ไม่เกิน 140 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือประมาณ 16 กรัมของไขมันอิ่มตัว

  • คนปกติควรรับประทานคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทานคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน

  • ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และ / หรือคอเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น

  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (Monounsaturated fats) และ / หรือไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fats) แทนไขมันอิ่มตัว ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ทำจากพืช ถั่วต่าง ๆ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ

  • เน้นการปรุงประกอบอาหารแบบต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันควรลดปริมาณให้น้อยลงหรือเลี่ยงการใช้น้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวในการบริโภคได้

2. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

3. งดสูบบุหรี่

4. ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน

 

5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ได้อย่างดี ควรทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 150 - 200 นาที / สัปดาห์

 

อย่างไรก็ตามการปรึกษาแพทย์ เพื่อติดตามผลการรักษาก็เป็นเรื่องจำเป็น การปฏิบัติตัวบางระยะอาจต้องใช้ยาช่วยปรับระดับไขมันในเลือด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำและติดตามผลการรักษาต่อไป เพียงเท่านี้เราก็ควบคุมภัยเงียบจากโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงได้

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : ศูนย์โรคหัวใจและทรวงอก